HPV 4 สายพันธุ์
วัคซีน HPV คืออะไร?
วัคซีน HPV คือ วัคซีนที่ใช้ป้องกันเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง รวมถึงโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนักในผู้ชาย
วัคซีน HPV 2 สายพันธุ์ 4 สายพันธุ์ ต่างกันอย่างไร?
ไวรัส HPV ทั้งหมดมีมากกว่ากว่า 100 สายพันธุ์ ประมาณ 40 สายพันธุ์ส่งผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์
– วัคซีน HPV 2 สายพันธุ์ (Bivalent vaccine: Cervarix) คือ วัคซีนที่ป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
– ส่วนวัคซีน HPV 4 สายพันธุ์ (Quadrivalent vaccine: Gardasil ) คือ วัคซีนที่ป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18 ซึ่งสายพันธุ์ 6 และ 11 ทำให้เกิดหูดหงอนไก่
วัคซีน HPV ฉีดตรงไหน ฉีดกี่ครั้ง?
การใช้วัคซีน HPV จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน
– เด็กช่วงอายุ 9-14 ปีควรได้รับวัคซีน 2 เข็ม โดยเว้นระยะห่างแต่ละเข็มที่ 6 เดือน
– หากอายุ 15 ปีขึ้นไป ควรได้รับวัคซีน 3 เข็ม ที่ 0, 1 และ 6 เดือน
ฉีดวัคซีน HPV ได้ ไม่ต้องตรวจภายในก่อน
– ไม่จำเป็นต้องตรวจภายในก็ฉีดวัคซีน HPV ได้เลย แต่หากติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ใดไปแล้ว การฉีดวัคซีนไม่สามารถช่วยรักษาหรือป้องกันการเกิดโรคจากไวรัสชนิดนั้นๆ ได้ ทำได้เพียงป้องกันเชื้อสายพันธุ์ที่ยังไม่ติดเท่านั้น
– ดังนั้นเพื่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพสูงสุด ควรฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-26 ปี เมื่ออายุเกิน 26 ปีไปแล้วอาจไม่ได้ผลนัก สามารถปรึกษาแพทย์ดูก่อนได้ว่าควรรับวัคซีนหรือไม่
– อย่างไรก็ตาม วัคซีนสามารถป้องกันเชื้อได้เพียงบางสายพันธุ์ ดังนั้นคุณจึงยังมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกได้จากเชื้อ HPV สายพันธุ์อื่นๆ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอเมื่ออายุ 25 ปีขึ้นไปเป็นทางหนึ่งที่ช่วยค้นหาเชื้อตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที
ผู้ชายก็ควรฉีดวัคซีน HPV
เนื่องจากเชื้อ HPV สามารถก่อโรคในผู้ชายเช่นกัน เช่น โรคมะเร็งทวารหนัก หูดที่อวัยวะเพศ และผู้ชายที่ติดเชื้อยังอาจเป็นพาหะไวรัส HPV ส่งต่อเชื้อยังผู้หญิงคู่นอน ในผู้ที่มีคู่นอนหลายคนได้ ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีน HPV ด้วย
ทำไมการฉีดวัคซีน HPV จึงสำคัญ?
– ไวรัส HPV นั้นพบเจอได้ง่าย ติดต่อกันได้ทางเพศสัมพันธ์ (ทุกช่องทาง ทั้งอวัยวะเพศ ปาก และทวารหนัก) หลายคนเคยรับเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ไม่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงเข้าสู่ร่างกาย แล้วเชื้อถูกกำจัดออกไปเองโดยไม่ต้องรักษา
– แต่คนส่วนหนึ่งติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดออกได้เอง ทำให้เกิดเนื้อเยื่อผิดปกติเจริญเติบโตในร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจกลายเป็นโรคมะเร็ง และแพร่เชื้อให้คู่นอนต่อไป
– ที่สำคัญ โดยมากแล้วแม้ติดเชื้อ HPV ก็มักไม่แสดงอาการ การป้องกันไว้ก่อนจึงดีที่สุด
ประสิทธิภาพของวัคซีน HPV
– การศึกษาในปัจจุบันพบว่า วัคซีนนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ราว 70% อย่างน้อย 10 ปี
– มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก หูดหงอนไก่ ที่เกิดจากเชื้อ HPV บางสายพันธุ์สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน แต่อย่างไรอย่าลืมว่าโรคเหล่านี้สามารถเกิดจากเชื้อสายพันธุ์อื่นนอกเหนือจากที่มีในวัคซีนได้ ดังนั้นการป้องกันตัวเช่น สวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธุ์ ตรวจสุขภาพ ตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง จึงยังเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติควบคู่กันไปด้วย
ด้วยความห่วงใยจาก
วันเวลาทำการ
เปิดให้บริการ ทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ เวลา 08:00 – 20:00 น.
หากท่านมีข้อสงสัยในอาการเจ็บป่วย หรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ได้ทางช่องทางดังต่อไปนี้
- Facebook : โรงพยาบาลราชเวชอุบลราชธานี
- Line : Line Official RajavejUbon
- Tel : 045 959 683